อยู่คนเดียวให้มีความสุข
คนเดียว เชื่อว่าทุกคนบนโลกนี้คงจะมีน้อยคนที่มีความคิดอยากอยู่คนเดียว แน่นอนว่าไม่มีใครที่อยากโดดเดี่ยว แต่ก็ด้วยเหตุผลหลายอย่างที่เลือกไม่ได้ ทำให้จำเป็นต้องอยู่แบบเดียวดายไปก่อน เช่น อาจจะยังไม่เจอคนที่ใช้ในความสัมพันธ์ หรือมีความจำเป็นที่จะต้องไปทำงานและอยู่อาศัยในต่างถิ่นต่างแดน ที่ไม่มีเพื่อนไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีคนที่สนิทสนมคุ้นเคยให้พูดคุยปรึกษาหารือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อต้องอยู่คนเดียว คือความรู้สึกเหงาและว้าเหว่ บางคนเหงาทั้งๆ ที่ชีวิตรายล้อมไปด้วยผู้คนมากมาย แต่ไม่มีใครที่เข้าใจ หรือเป็นที่ปรึกษาให้ได้เมื่อมีปัญหา
เรียกว่า Social Loneliness บางคนเหงาเพราะต้องการคนที่จะมาดูแลความรู้สึก มาให้ความรัก เช่น อยากมีแฟน อยากมีคนมาใกล้ชิด เรียกว่า Emotional Loneliness ซึ่งไม่ว่าจะเหงาเพราะสาเหตุอะไร ถ้าไม่รู้จักวิธีจัดการความรู้สึกอย่างถูกต้อง นานเข้าอาจเป็นปัญหาตามมาได้ เช่น รู้สึกว่าตัวเองไม่มีใครอยู่ คนเดียว ไม่มีคุณค่า และนำมาซึ่งการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด ที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องปิดกิจการชั่วคราวหรือปิดถาวร และเพื่อให้มีการเว้นระยะห่าง หลายคนจึงต้องทำงานอยู่บ้าน นักเรียนนักศึกษาต้องหยุดเรียน และคนทำงานหลายคนอาจตกงาน จึงทำให้มีคนที่ต้องอยู่คนเดียวกันมากขึ้น ช่วงแรกๆ ของการอยู่คนเดียว บางคนอาจรู้สึกดี รู้สึกอิสระ ที่ไม่ต้องถูกบังคับให้อยู่ในกรอบเหมือนกับทำงานในออฟฟิศ มีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น
ได้ทำสิ่งที่อยากทำมากขึ้น มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วความรู้สึกดีๆ แบบนี้จะเป็นกันเฉพาะในช่วงแรกเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป จะเปลี่ยนเป็นความรู้สึกเหงา เครียด และซึมเศร้าแทน จากการศึกษากรณีตัวอย่างในอดีต ช่วงที่เกิดโรค SAR ระบาด ซึ่งต้องมีการเว้นระยะห่างเช่นเดียวกันกับ Covid-19 ในตอนนั้นพบว่า คนทั่วไปมีภาวะซึมเศร้าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต้องถูกกักตัวก็จะยิ่งมีอาการหนักมากกว่าคนทั่วไป เพื่อไม่ให้ความเหงาจากการอยู่คนเดียว ต้องเปลี่ยนไปเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคเครียด เราจึงควรเรียนรู้วิธีจัดการกับความเหงาอย่างถูกต้องเสียก่อน ซึ่งจะมีวิธีใดบ้าง เราลองมาดูกันค่ะ
- รู้ถึงสัญญาณบางอย่างของความเหงา
หากคุณมีความรู้สึกต่อไปนี้ หมายความว่าคุณกำลังเหงา และควรหาวิธีจัดการก่อนจะเป็นปัญหา ได้แก่
– ไม่อยากตื่น
– เมื่อตื่นแล้วก็ไม่อยากลุกออกจากที่นอน
– ไม่อยากทำอะไรเลย
– รู้สึกชีวิตช่างว่างเปล่า
– รู้สึกกระวนกระวายตลอดเวลา ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้
– ไม่มีสมาธิ
– นอนไม่หลับ
– อ่อนเพลียง่าย
– อยากดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
ถ้าสังเกตว่าคนที่อยู่รอบข้างหรือตัวเราเองมีอาการดังกล่าวมาแล้ว อาจจะไม่ได้เป็นหมดทุกข้อ แต่ถ้ามีบางข้อหรือหลายข้อ แปลว่าเริ่มมีสัญญาณของความเหงา ให้ลองตั้งสติแล้วหาสาเหตุของอาการเหล่านั้น และอย่าคิดอะไรในด้านลบ พยายามคิดบวก แล้วหาวิธีจัดการอย่างถูกต้อง
- เสพสื่อที่ดีต่อจิตใจ
เมื่อรู้ตัวว่ากำลังเหงา อย่าพยายามตอกย้ำด้วยการฟังเพลง ดูหนัง อ่านหนังสือ หรือรับสื่อใดๆ ที่เป็นการเพิ่มอารมณ์เหงาหรือเศร้ามากจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้ความรู้สึกยิ่งจมดิ่งลึกลงไปมากขึ้น ให้เลือกเสพสิ่งที่ดีต่ออารมณ์และสุขภาพจิต เช่น แทนที่จะฟังเพลงเศร้าก็ให้เปลี่ยนเป็นเพลงสนุกสนาน และหลีกเลี่ยงในการเสพข่าวสารที่ทำให้ความรู้สึกหม่นหมอง เช่น แทนที่จะอ่านข่าวอาชญากรรมก็เปลี่ยนมาเป็นข่าวบันเทิง หรือดูรายการตลก เป็นต้น
- หากิจกรรมสร้างสรรค์ทำ
มีกิจกรรมมากมายที่ทำแล้วช่วยให้เรารู้สึกมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น กิจกรรมจิตอาสาต่างๆ กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม กิจกรรมช่วยเหลือสังคม กิจกรรมช่วยเหลือสัตว์พิการ เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนสามารถเลือกทำอะไรก็ได้ตามความสนใจและความถนัด การทำสิ่งเหล่านี้นอกจากจะช่วยขจัดความรู้สึกเป็นคนไร้ค่าออกไปแล้ว ยังเป็นการได้เข้าสังคมใหม่ๆ ได้เจอะเจอรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน เป็นการเปิดโลกใหม่ และสร้างมิตรภาพใหม่ๆ ไม่ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวและไม่เหงา
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
คนที่มีปัญหาทางจิตมักจะเป็นคนที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับใคร ถ้าหากคุณไม่อยากเดียวดาย ก็ต้องเริ่มจากการเป็นมิตรที่ดีให้กับคนอื่นๆ รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน หรือ คนข้างบ้าน หากคุณรู้ตัวว่าได้ห่างหายจากครอบครัวมานาน ก็ให้โทรหาพูดคุยกับพวกเขา หรือเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนบ้าน แชร์ความรู้สึกกับพี่น้อง สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม รู้สึกได้รับการยอมรับ และช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดจากสภาพจิตใจอันย่ำแย่ได้
- ใช้เทคโนโลยีให้เป็น
โซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์นั้น เปรียบเหมือนดาบ 2 คม ที่หากจะใช้ต้องรู้จักใช้ให้เป็นหากใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ก็จะทำให้คุณมีเพื่อน มีกลุ่มทางสังคม ที่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูล และช่วยให้ไม่รู้สึกเหงาโดดเดี่ยวได้ แต่ถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้อง คือคอยแต่จะเสพสิ่งที่เป็นลบ หรืออ่านแล้วทำให้เกิดความรู้สึกในด้านมืด ก็จะเป็นดาบที่มาทำร้ายคุณเองได้เหมือนกัน ในทางกลับกันคนโพสต์ก็ควรโพสต์แต่สิ่งดีๆ ให้คนที่อ่านหรือเสพข้อมูลของเราได้รับในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ มากกว่าได้อารมณ์ที่หม่นหมอง
- รู้จักให้กำลังใจตัวเอง
คนเราไม่สามารถหวังพึ่งพาคนอื่นได้ตลอดเวลา เพราะทุกคนก็ล้วนมีปัญหาของตัวเองที่ต้องจัดการเหมือนกัน ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ เราทุกคนต้องรู้จักให้กำลังใจตัวเองให้เป็น อย่าโทษตัวเอง อย่าคิดร้ายคิดลบกับตัวเอง เมื่อเกิดสิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่ ก็บอกกับตัวเองว่าเราจะต้องผ่านมันไปได้ ไม่ใช่เราคนเดียวหรอกที่มีปัญหา ใครๆ ก็ล้วนมีปัญหา ดังนั้นแทนที่จะมัวน้อยใจในโชคชะตาของตัวเอง ก็ให้ตั้งสติแล้วหาทางแก้ไข และเชื่อมั่นว่าเราก็มีความสามารถไม่น้อยไปกว่าใคร ฉะนั้น อย่ามัวรอความช่วยเหลือจากใคร ให้หาทาง และลงมือแก้ไขด้วยตัวเองก่อน ถ้าไม่ไหวก็ปรึกษากับผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าและถ้ามีปัญหาทางความรู้สึกที่จัดการไม่ได้จริงๆ ก็ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น จิตแพทย์ นักจิตบำบัด เพื่อขอความช่วยเหลือด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ นิสัย